top of page

           การไหลบ่าของทุนนิยม โลกาภิวัฒน์ การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในระดับโลกและระดับท้องถิ่น กระแส transnationalism1  รวมทั้งความเจริญก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีในการติดต่อสื่อสารในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมาล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่เอื้อให้ผู้คนที่อาศัยอยู่ในประเทศต่างๆ มีโอกาสเคลื่อนย้าย เดินทาง หรือนำไปสู่การย้ายถิ่น ทั้งในรูปแบบของการไปทำงาน การไปศึกษาต่อต่างประเทศ การแต่งงานข้ามวัฒนธรรม หรือการย้ายถิ่นกลับ รวมทั้งผู้คนเหล่านี้ยังธำรงความสัมพันธ์ทางสังคมข้ามผ่านพรมแดนรัฐ-ชาติ

          เมื่อพิจารณางานศึกษาที่ผ่านๆ มาในประเด็นการแต่งงานข้ามวัฒนธรรมของผู้หญิงไทยกับชายชาวต่างชาติ การเคลื่อนย้าย/ย้ายถิ่นกลับอันเนื่องมาจากการสร้างความสัมพันธ์/การแต่งงานข้ามวัฒนธรรม และประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการย้ายถิ่นในรูปแบบต่างๆ พบว่ายังมีข้อจำกัดหลายประการ กล่าวคือ

          ประการแรก  งานศึกษาหลายๆ งานมักจะอธิบายถึงสาเหตุ/แรงจูงใจที่ทำให้ผู้หญิงแต่งงานข้ามวัฒนธรรม โดยมีแนวโน้มที่จะประยุกต์แนวคิดทฤษฏีทางเศรษฐกิจที่ศึกษาการย้ายถิ่นแบบ labor migration ไปใช้อธิบายว่า ความยากจน  โอกาสในการย้ายถิ่น  แรงจูงใจทางการเงิน และความแตกต่างทางเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศเป็นปัจจัยหลักที่ผลักดันให้ผู้หญิงเหล่านี้แต่งงานกับสามีชาวต่างชาติ   ในขณะที่แนวคิดและมุมมองเรื่องเพศภาวะและเพศวิถีที่เกี่ยวโยงกับบริบททางสังคมและวัฒนธรรมเพิ่งได้รับความสนใจนำมาใช้วิพากษ์ทฤษฏีทางเศรษฐกิจ  และนำมาวิเคราะห์ปรากฏการณ์การแต่งงานข้ามวัฒนธรรม รวมทั้งยังช่วยเน้นให้เห็นมิติด้าน intimate relationship ของคู่รักข้ามวัฒนธรรมมากขึ้น นอกจากนี้มิติ Gender ยังช่วยเปิดมุมมองใหม่ๆ ที่ยังไม่ค่อยได้รับความสนใจศึกษามากนัก เช่น แนวคิดความเป็นชาย (Masculinities) ในชุมชนท้องถิ่นที่ถูกท้าท้าย ต่อรอง และ/หรือถูกนิยามใหม่ อันเนื่องมาจากการที่ผู้หญิงในชุมชนแต่งงานข้ามวัฒนธรรมกับชายชาวต่างชาติ    ประเด็นอาชีพที่สัมพันธ์กับ labor of love/labor of care เช่น อาชีพการให้การดูแล/การให้การบริการที่หญิงย้ายถิ่นมักถูกคาดหวังให้มารับทำงานเหล่านี้ และยังมักถูกเหมารวม/เชื่อมโยงกับการทำงานที่สัมพันธ์กับมิติการให้บริการทางเพศ (แบบแอบแฝง) 

          ประการที่สอง  งานศึกษาวิจัยในประเด็นดังกล่าวมักมองผู้หญิงในลักษณะที่เป็นกลุ่มก้อนเดียวกัน (homogeneity) มักจะนำเสนอภาพการแต่งงานข้ามวัฒนธรรมของผู้หญิงไทยที่มีฐานะยากจน ระดับการศึกษาน้อย และมีภูมิหลังมาจากชนบท  ส่งผลให้ประสบการณ์ชีวิตและการแต่งงานข้ามวัฒนธรรมของผู้หญิงที่มีภูมิหลังทางเศรษฐกิจและสังคมที่แตกต่างกัน (เช่น ผู้หญิงที่มีการศึกษา มาจากครอบครัวที่มีฐานะทางเศรษฐกิจปานกลาง) มักจะไม่ค่อยถูกนำเสนอและพูดถึง  ทั้ง ๆ ที่ ตำแหน่งทางสังคม (social positions) ที่แตกต่างกันของผู้หญิงอาจหล่อหลอมแรงจูงใจ การปรับตัว และมุมมองของพวกเธอต่อการแต่งงานข้ามวัฒนธรรมแตกต่างกันไป

       ประการที่สาม งานศึกษาเรื่องการแต่งงานข้ามวัฒนธรรมในสังคมไทยร่วมสมัยไม่ควรมุ่งเน้นแต่เฉพาะชีวิตของคู่สมรสและความสัมพันธ์กับสมาชิกในครอบครัวของทั้งสองฝ่าย หากแต่ควรขยายความสนใจไปสู่ประเด็นอื่นๆ ที่มีความเชื่อมโยงต่อปรากฏการณ์นี้ เช่น เรื่อง Migration Process และ/หรือ Mobility  ไม่ว่าจะเป็นมิติของโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ต่างๆ ที่เอื้อ/จำกัดต่อการเกิดขึ้นของชุมชนคนไทยในประเทศปลายทาง เช่น ร้านนวด ร้านอาหารไทย วัดไทย สวนสาธารณะที่คนไทยมารวมตัวกันเพื่อทำกิจกรรมต่างๆ ในประเทศปลายทาง ซึ่งโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้สัมพันธ์กับมิติทางวัฒนธรรม เช่น ความเชื่อทางศาสนา อัตลักษณ์ “ความเป็นไทย” รวมถึงการสร้างเครือข่ายทางสังคมในชุมชนคนไทย/ผู้หญิงไทยในต่างแดน  นอกจากนี้โครงสร้างพื้นฐานในชุมชนบ้านเกิด/หรือตามเมืองใหญ่ๆ ในประเทศไทย เช่น หัวหิน พัทยา ภูเก็ต เชียงใหม่ ก็ยังมีผลต่อการกำหนดการใช้ชีวิตของผู้หญิงไทยกับคู่สมรสข้ามวัฒนธรรมหรือสร้างความสัมพันธ์ระหว่างนักท่องเที่ยวชายกับผู้หญิงไทย  รวมทั้งความสัมพันธ์ระหว่างพวกเขากับบุตรที่เป็นรุ่นที่สอง (second generation) ในกรณีของการเดินทางกลับมาเยี่ยมบ้าน หรือการย้ายถิ่น/การเคลื่อนย้ายหลังเกษียณของพวกเขา เช่น โรงพยาบาล บ้านจัดสรร/คอนโด ร้านอาหาร/ร้านขายของที่นำเข้าสินค้าจากประเทศตะวันตก เพื่อตอบสนองความต้องการในการบริโภคสินค้าของสามีชาวตะวันตก รวมทั้งประเด็นเรื่องการให้การดูแลผู้สูงอายุ (aging care) ในกรณีของคู่สมรสข้ามวัฒนธรรมที่อยู่ในวัยเกษียณและมาใช้ชีวิตในประเทศไทย เป็นต้น

          ประการสุดท้าย งานศึกษาในช่วงที่ผ่านมายังไม่ค่อยเน้นทำความเข้าใจในทางทฤษฏีและงานวิจัยที่ทันต่อสถานการณ์ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการย้ายถิ่นและกระบวนการย้ายถิ่นของแรงงานที่ยังมีพลวัตตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะการเคลื่อนย้ายแรงงานในภาคเกษตรในระดับประเทศ ภูมิภาค และระหว่างประเทศ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่ากระบวนการย้ายถิ่นยังคงสัมพันธ์กับโครงสร้างทางเศรษฐกิจและการเมืองในระดับประเทศและภูมิภาค เช่น การที่บริษัทข้ามชาติสัญชาติไทยไปลงทุนทำเกษตรแปลงขนาดใหญ่ในประเทศพม่า ลาวและกัมพูชา หรือดำเนินการโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานระดับใหญ่ เช่นการสร้างเขื่อน หรือการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ผลด้านสังคมที่ตามมาคือทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายของแรงงานทักษะสูง และแรงงานไร้ฝีมือ และครอบครัวของแรงงานเหล่านี้เพื่อไปทำงานในประเทศปลายทาง เป็นต้น

              ข้อจำกัดที่นำเสนอไปเบื้องต้นสะท้อนให้เห็นว่าแม้ประเด็นเรื่องการแต่งงานข้ามวัฒนธรรมของผู้หญิงไทยกับชายชาวต่างชาติจะได้รับความสนใจศึกษามากขึ้นในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมาก็ตาม แต่ก็ยังไม่ค่อยมีการสำรวจองค์ความรู้อย่างเป็นระบบว่าปรากฏการณ์ดังกล่าวถูกศึกษาไว้ในประเด็นใดบ้าง ด้วยระเบียบวิธีวิจัยใด และผลการศึกษา/ข้อค้นพบเป็นอย่างไร และประเด็นใดยังไม่ค่อยได้รับการศึกษา รวมทั้งไม่ควรจำกัดการศึกษาอยู่แต่ในประเด็นการแต่งงานข้ามวัฒนธรรม หากแต่ควรขยายความสนใจไปสู่ประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น การสูญเสีย/การถือครองที่ดินของผู้คนในชุมชนอันเนื่องมาจากการแต่งงานข้ามวัฒนธรรมหรือกระบวนการย้ายถิ่น ระบบโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการพบปะของคู่รัก การเคลื่อนย้าย/การย้ายถิ่นกลับและการดำรงชีวิตของผู้คนเหล่านี้ รวมทั้งประเด็นเรื่องบุตรรุ่นที่สองหรือผู้สูงอายุอันเป็นผลมาจากการแต่งงานข้ามวัฒนธรรม รวมถึงการขยายความสนใจไปสู่ประเด็นเรื่องกระบวนการย้ายถิ่นหรือการเคลื่อนย้ายแรงงานในภาคเกษตรในระดับประเทศหรือภูมิภาค ซึ่งล้วนเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในครอบครัวของแรงงานเหล่านั้น เป็นต้น

          นักวิชาการจากสถาบันการศึกษาทั้งในและต่างประเทศได้รวมตัวกันจัดตั้งกลุ่มวิจัย(cluster) “ความสัมพันธ์ใกล้ชิดในบริบทข้ามพรมแดนและกระบวนการย้ายถิ่น” โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะมุ่งสำรวจ ทบทวนและพัฒนาองค์ความรู้ว่าด้วยประเด็นการแต่งงานข้ามวัฒนธรรมของคนไทยกับชาวต่างชาติ ชุมชนคนไทยในต่างประเทศ และขยายไปสู่ประเด็นศึกษาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับปรากฏการณ์ดังที่ได้กล่าวไปข้างต้นแล้ว นอกจากนี้ยังมีวัตถุประสงค์ที่จะเผยแพร่ผลงานวิจัยและผลงานวิชาการ จัดทำเวปไซต์เพื่อเป็นแหล่งในการสืบค้นข้อมูลของกลุ่มนักวิจัยและผลงานวิชาการ รวมทั้งความเป็นไปได้ในการพัฒนากลุ่มวิจัย (cluster) เพื่อสร้างความเป็นเลิศในการสร้างผลงานวิจัยต่อไป

กลุ่มวิจัย ความสัมพันธ์ใกล้ชิดในบริบทข้ามพรมแดนและกระบวนการย้ายถิ่น

bottom of page